แนวคิดเรกจิโอ เอมีเลียมีต้นกำเนิดมาจากเมืองเรกจิโอ เอมีเลีย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี ค.ศ.1945) ได้มีแม่บ้านกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านวิลลา เซลลา (Villa Cella) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากตัวเมืองเรกจิโอ เอมีเลีย 2-3 ไมล์ มีความมุ่งมั่นที่จะจัด การศึกษา ให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน จากจุดนี้ทำให้ มาลากุซซี่ ซึ่งเป็นผู้นำทีมพร้อมกับกลุ่ม นักการศึกษาเริ่มทำการศึกษาค้นคว้าทฤษฎี บทความเกี่ยวกับการศึกษา งานวิจัยของศาสตร์ สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงจนได้เป็นแนวคิดและปฏิบัติในการจัด ประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักของนักการศึกษาในกลุ่ม ประเทศยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980

 

 

หลักการสำคัญของแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย

 

    1. วิธีการมองเด็ก (The image of the children) ครูที่เรกจิโอ เอมีเลีย มองว่า เด็กแต่ละคน มีความสามารถในการเรียนรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ถือกำเนิดขึ้นมาและจะมีพัฒนการการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปตามวัย เด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็น มีความสามารถในการแสดงออกถึงความต้องการของ ตนเอง และความต้องการในการสื่อสารกับผู้อื่น ทั้งการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางแววตาและ การสัมผัส เป็นต้น
    2. โรงเรียน สำหรับเด็กตามแนวความคิดของเรกจิโอ เอมีเลีย คือสถานที่ที่ผู้ใหญ่และเด็กจำนวนมาก ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาใช้เวลาร่วมกันและมีสัมพันธภาพต่อกัน แนวคิดนี้เชื่อว่า ระบบการใช้ชีวิตในโรงเรียนจะขยายไปสู่ครอบครัวของเด็ก ดังนั้นครอบครัวของเด็กจึงมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ และมีส่วนร่วมในระบบของโรงเรียนด้วย เพราะฉะนั้นการดำเนินการจึงคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ เด็ก ครอบครัว และครูผู้สอน การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนจึงมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกอบอุ่น และเป็นมิตรสำหรับทุกคนที่ได้เข้ามาสัมผัสครูผู้สอนและเด็กๆ ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน การสอนและการเรียนต้องทำควบคู่กันไป โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากกว่าการสอน มาลากุซซี่ กล่าวว่า ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การสอน ถ้าครูผู้สอนยืนสังเกตการณ์ห้องเรียนสักครู่และเรียนรู้จากห้องเรียนในขณะนั้นว่าเด็กๆ กำลังทำ อะไรอยู่ หากครูผู้สอนเข้าใจได้ถูกต้อง บางครั้งอาจทำให้การสอนในวันนั้นแตกต่างจาก ที่ผ่านมาก็ได้
    3. ศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เรียน การเรียนการสอนนั้นไม่ใช่การถ่ายโอนข้อมูลความรู้จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน แต่เป็นการเปิดโอกาส ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยมีครูผู้สอนทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ ในเรื่องนั้นๆ โดยการสร้างสถานการณ์หรือจัดสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ได้ถาม ได้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การเรียนในลักษณะนี้ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจว่าเด็ก มีวิธีการเรียนรู้อย่างไร และมีความสามารถในการแสดงความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ออกมาอย่างไร เพราะฉะนั้นคุณครูสำหรับเด็กปฐมวัย ต้องทำหน้าที่เหมือนนักศึกษาที่มีหน้าที่ ค้นคว้าวิจัย เป็นนักสำรวจและตระเวนเก็บข้อมูล จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากการ ประชุมปฏิบัติการ การสัมมนา และการได้พบปะกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ต่อไป
    4. การเรียนรู้ในแบบของเรกจิโอ เอมีเลีย แนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย เป็นแนวคิดที่มีศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เรียน ดังนั้นจึงไม่มีการกำหนด เนื้อหาการเรียนที่แน่นอนตายตัว ทุกสาระการเรียนรู้ที่นำมาใช้ต้องสามารถปรับ และยืดหยุ่นได้ ตามความสนใจของเด็ก สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนที่โดดเด่นของแนวคิดนี้ก็คือ การเรียนรู้อย่างลุ่มลึกจากโครงการ (projects) การสอนแบบโครงการเป็นการสอนที่เน้นให้เด็ก ได้ค้นหาคำตอบจากปัญหาหรือเรื่องที่สนใจเพื่อสร้างองค์แห่งความรู้ด้วยตนเอง โดยก่อนการเริ่มโครงการในชั้นเรียน ครูผู้สอนทุกคนจะมีการพูดคุยถึงหัวข้อโครงการที่อาจอยู่ ในความสนใจ ของเด็กและเตรียมการในด้านต่างๆ เอาไว้ให้พร้อม เมื่อเริ่มโครงการในชั้นเรียนครูจะ เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกศึกษาโครงการที่ตนเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการระยะสั้นหรือระยะยาว กิจกรรมและประสบการณ์จากโครงการต่างๆ จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม ความหมายของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม คุณธรรม การทำงานร่วมกัน การหาข้อตกลงร่วมกันในกรณีที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน การสังเกต กระบวนการคิด การแก้ปัญหา การเรียนรู้วิธีการเรียน และรู้จักแหล่งที่มาของความรู้ที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยบ่มเพาะให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนอกจากการเรียนรู้จากโครงการแล้ว นักการศึกษาของแนวคิดนี้มีความเชื่อว่า ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กสามารถใช้สื่อสารให้คนรอบข้างได้เข้าใจถึงกระบวนการคิด ตลอดจนจินตภาพของเด็กที่มีต่อข้อมูลความรู้ที่เด็กได้รับมา นักการศึกษามองว่าการแสดงออกทาง ศิลปะของเด็ก เป็นความสามารถในการสื่อสารที่อุปมาอุปมัยได้เป็น “ร้อยภาษา” (The Hundred Languages of Children) ซึ่งศักยภาพของเด็กในส่วนนี้ไม่ใช่สิ่งพิเศษแยกออกจากหลักสูตร แต่เป็นองค์ประกอบที่จะต้องรวมอยู่ในหลักสูตรด้วย
    5. การบันทึกข้อมูลสาระการเรียน การจัดบันทึกข้อมูลสาระการเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของแนวคิดนี้ การบันทึกข้อมูลสาระการเรียนรู้จะครอบคลุมถึงกิจกรรมทุกด้านตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ของการเรียนรู้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการดำเนินโครงการ ที่เด็กมีการเรียนรู้อย่างลุ่มลึก ครูผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญในการบันทึกเหตุการณ์เด่นๆ ที่สะท้อนถึงการทำงานและการเรียนรู้อย่างตั้งใจ การแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การคัดค้าน การหาข้อตกลงร่วมกันเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน ตลอดจนจดบันทึกศักยภาพของเด็กในการแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้ด้วย ข้อมูลทั้งหมดที่บันทึกไว้จะเป็นประโยชน์ในการประเมินศักยภาพ ในการเรียนของเด็กและนำไปใช้ ประกอบการจัดสาระการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ต่อไป

 

บทบาทของครู

 

ครูจะต้องเคารพสิทธิของเด็กในความต้องการที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจ ครูจะต้องเป็นคนช่างสังเกต เข้าใจและรู้เท่าทันถึงความต้องการ หรือความสนใจในการเรียนรู้ของเด็ก และสามารถที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

นักการศึกษามีความเห็นว่า ในขณะที่นักคิด นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาในศาสตร์แขนงต่าง ๆ นั้นมีการสร้างทฤษฎีความเชื่อ และความเข้าใจต่าง ๆ ในศาสตร์ที่ตนสนใจ เด็ก ๆ ก็สามารถสร้างทฤษฎี ความเชื่อ และความเข้าใจในสิ่งที่เด็กสนใจได้เช่นกัน เช่นปรากฏการณ์เรื่องฝนตก เมื่อพูดคุยกับเด็กว่า ฝนคืออะไร คำตอบที่เด็กตอบจะมีดังนี้คือ “เทวดารดนํ้าต้นไม้”  “พ่อบอกว่าวันนี้ฝนจะตก” “คนอ่านข่าวในโทรทัศน์บอกว่า วันนี้ฝนจะตก” ฯลฯ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะสร้างทฤษฎี ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ฝน” ครูปฐมวัยตามแนวคิดเรกจิโอจะไม่รีบเร่งในการให้คําตอบที่ถูกต้องถึงแหล่งที่มาให้กับเด็ก ๆ แต่ครูจะถามคําถามเกี่ยวกับฝน เช่น เมื่อฝนตกลงมาพื้นถนนจะเป็นอย่างไร สีผิวพื้นถนนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เสียงฝนที่ตกอย่างเบาบาง กับฝนที่ตกหนักเป็นอย่างไร นํ้าฝนที่ตกลงมาไปอยู่ที่ไหน คำถามเหล่านี้จะหลั่งไหลออกมาทั้งจากเด็กและครู เด็กและครูจะเรียนรู้ไปด้วยกันในการหาคําตอบในสิ่งที่สงสัยอยากรู้

 

การเรียนรู้ตามแนวคิดเรกจิโอจึงไม่ใช่เรียนจากแบบเรียนสําเร็จรูปที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่เรียนรู้จากการค้นหาข้อมูลความรู้ที่จะตอบคําถามที่เด็กสงสัยใคร่รู้นักการศึกษาเรกจิโอ เอมีเลีย มองการแสดงออกทางศิลปะของเด็กที่ผ่านสื่อกลางที่หลากหลายเป็นความสามารถในการสื่อสารที่อุปมาอุปไมยเป็น “ร้อยภาษา” (The Hundred Languages of Children)